ไปรษณีย์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไปรษณีย์ เป็นคำที่มีความหมายได้หลายอย่าง อาจหมายถึง จดหมาย (mail) บริการรับส่งจดหมายและพัสดุภัณฑ์ (postal service) รวมทั้งเป็นคำเรียกย่อ ๆ ของ ที่ทำการไปรษณีย์
เนื้อหา |
[แก้] ประวัติไปรษณีย์
การส่งเอกสารจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งโดยใช้คนส่งสาร มีมานานพอ ๆ กับการคิดค้นการเขียน มีการจัดตั้งระบบส่งสารในประเทศจีนรวม 4000 ปีก่อนคริสตกาล ในอียิปต์ และ ดินแดนอัสซิเรีย (Assyria) 3000 ปีก่อนคริสตกาล จดหมายที่เก่าแก่เท่าที่ยังเหลือให้เห็นในปัจจุบันเป็นแผ่นดินเหนียวจารึกอักษรรูปลิ่มของอียิปต์และสอดอยู่ในซองดินเหนียวอีกที
แต่ระบบส่งสารที่จัดตั้งเป็นระบบเกิดขึ้นหลังจากนั้นมาก เท่าที่มีการบันทึกไว้ ในสมัยฟาโรห์ของอียิปต์ตั้งแต่ 2400 ปีก่อนคริสตกาลมีการส่งราชโองการจากฟาโรห์ไปยังท้องที่ต่าง ๆ ที่ปกครองอยู่ ต่อจึงพัฒนาระบบไปรษณีย์ที่ให้บริการกับประชาชน โดยระบบเก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีหลักฐาน คือที่อัสซิเรีย ริเริ่มตั้งแต่ 500 ปีก่อนคริสตกาลเป็นอย่างน้อย อีกตัวอย่างหนึ่งคือ จีน มีการวางระบบในสมัยราชวงศ์จิ๋น ประมาณ 200 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งระบบไปรษณีย์ของจีนนี้ นับว่าเป็นระบบเก่าแก่ที่สุดที่ยังคงให้บริการต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
[แก้] ประวัติไปรษณีย์ในไทย
ของไทยเองก็มีประวัติย้อนหลังไปตั้งแต่สมัยสุโขทัย เป็นเส้นทางจดหมายจากสวรรคโลกผ่านสุโขทัยไปยังกำแพงเพชรใช้สำหรับการปกครอง ส่วนบริการไปรษณีย์สำหรับประชาชนทั่วไป มีหลายหน่วยงานเคยที่เปิดให้บริการทางด้านไปรษณีย์ ก่อนที่ไปรษณีย์ไทยของรัฐจะเปิดให้บริการ เช่น บริษัทเอกชน บริษัทเดินเรือ สถานกงสุลของอังกฤษ และ สหรัฐอเมริกาในไทย เป็นต้น โดยเป็นจดหมายส่งไปต่างประเทศ และมีการติดแสตมป์ของประเทศในแถบนี้ เช่น ฮ่องกง อังกฤษ อาณานิคมช่องแคบ (Strait Settlements, ปัจจุบันคือมาเลเซีย สิงคโปร์ เกาะคริสต์มาส และหมู่เกาะโคโคส์) และ อินดีส์ตะวันออก (East Indies หรือ East India ปัจจุบันได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ เมียนมาร์ ศรีลังกา และ มัลดีฟส์) เป็นต้น ก่อนที่จะส่งทางเรือเดินสมุทรไปยังไปรษณีย์เจ้าของแสตมป์นั้น ๆ เพื่อส่งต่อไปยังจุดหมายปลายทาง
[แก้] ไปรษณีย์กงสุลอังกฤษ
ที่ทำการไปรษณีย์ของกงสุลอังกฤษ ถือเป็นไปรษณีย์ที่สำคัญที่สุดก่อนที่มีการให้บริการไปรษณีย์ของไทย สามารถฝากส่งจดหมายไปยังประเทศต่าง ๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกา โดยทางเรือไปส่งยังที่ไปรษณีย์สิงคโปร์เพื่อคัดแยกและนำจดหมายส่งต่อจนถึงปลายทาง (กรณีจดหมายไปอเมริกา มีการส่งไปฝากที่ทำการไปรษณีย์ฮ่องกงด้วย)
ไปรษณีย์นี้ตั้งอยู่ภายในกงสุลอังกฤษซึ่งเริ่มให้บริการเพียงหนึ่งปีหลังจากที่ก่อตั้งกงสุลเมื่อ พ.ศ. 2400 ต่อมาในปี พ.ศ. 2425 มีการนำแสตมป์จาก อินดีส์ตะวันออก และ อาณานิคมช่องแคบ มาประทับเครื่องหมาย "B" เพื่อใช้ติดบนซองที่ส่งจากกรุงเทพ ไปรษณีย์นี้ได้ปิดทำการเมื่อ กรกฎาคม พ.ศ. 2428 หลังไทยได้เข้าร่วมสหภาพสากลไปรษณีย์ (Universal Postal Union, UPU) และเริ่มให้บริการไปรษณีย์ไปต่างประเทศ
กงสุลอังกฤษแห่งนี้ปัจจุบันเปลี่ยนไปเป็นที่ทำการไปรษณีย์กลาง บางรัก ส่วนสถานกงสุลย้ายไปตั้งที่ใหม่อยู่บนถนนเพลินจิต
[แก้] ไปรษณีย์ของรัฐ
ระบบไปรษณีย์ของรัฐ เกิดขึ้นในรัชสมัยของ รัชกาลที่ 5 โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบกิจการไปรษณีย์ในสมัยแรกคือ กรมไปรษณีย์ เปิดให้บริการเป็นครั้งแรก ณ วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 กรมไปรษณีย์ในสมัยนั้นอยู่ภายใต้การดูแลของ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วงเดช มีตำแหน่งเป็น ผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ไปรษณียาคาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้ปากคลองโอ่งอ่าง ปัจจุบันรื้อทิ้งเพื่อสร้างสะพานพระปกเกล้า (แต่มีการสร้างใหม่ที่ตำแหน่งใกล้เคียงเพื่อเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ในอนาคต)
ในระยะแรกที่ให้บริการ ครอบคลุมเฉพาะกรุงเทพเท่านั้น เมื่อ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 จึงเริ่มขยายไปต่างจังหวัดโดยเปิดที่ทำการไปรษณีย์ที่สมุทรปราการและนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง ในปัจจุบัน) และขยายต่อจนถึงเชียงใหม่ในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน ส่วนบริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศ เริ่มเมื่อ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 หลังประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์
ในปี พ.ศ. 2441 กรมไปรษณีย์ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมไปรษณีย์โทรเลข หลังจากมีการควบรวมเอา กรมไปรษณีย์ และ กรมโทรเลข ซึ่งดูแลงานด้านโทรเลข เข้าด้วยกัน เมื่อ พ.ศ. 2483 ได้มีการเปิด ที่ทำการไปรษณีย์กลาง ขึ้นบนถนนเจริญกรุง เขตบางรัก และใช้เป็นที่ทำการของกรมไปรษณีย์โทรเลข
ปี พ.ศ. 2520 ได้เปลี่ยนโครงสร้างมาเป็นรัฐวิสาหกิจใช้ชื่อว่า การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.)
และเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2546 มีการปรับโครงสร้างอีกครั้งตามนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยแยกการสื่อสารแห่งประเทศไทย เป็น บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบัน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นผู้ดูแล บริการด้านไปรษณีย์ทั้งหมด มีสำนักงานใหญ่ที่ถนนแจ้งวัฒนะ
[แก้] บริการไปรษณีย์
บริการต่าง ๆ ที่ไปรษณีย์เปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ใช้ ได้แก่
- บริการรับส่งไปรษณีย์ภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น จดหมาย ไปรษณียบัตร จดหมายอากาศ สิ่งตีพิมพ์ พัสดุไปรษณีย์ เป็นต้น ซึ่งแยกบริการไว้หลายระดับ และคิดค่าบริการแตกต่างกัน เช่น
- ไปรษณีย์ธรรมดา
- ไปรษณีย์ด่วน ถึงที่หมายเร็วขึ้น
- ไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (Express Mail Service, EMS) ถึงที่หมายเร็วและมีการบันทึกขั้นตอนต่าง ๆ จากต้นทางจนถึงผู้รับ ป้องกันไปรษณีย์ภัณฑ์สูญหาย
- ไปรษณีย์ลงทะเบียน (registered mail) มีการบันทึกป้องกันไปรษณีย์ภัณฑ์สูญหาย
- ไปรษณีย์รับประกัน มีการรับประกันและจ่ายเงินชดเชยกรณีที่ไปรษณีย์ภัณฑ์สูญหาย
- ไปรษณีย์ตอบรับ เมื่อจดหมายถึงผู้รับ ไปรษณีย์ปลายทางจะส่งใบเซ็นรับย้อนกลับไปยังผู้ส่ง
- พัสดุเรียกเก็บเงินปลายทาง
- บริการด้านการเงิน ได้แก่ การส่งธนาณัติ ตั๋วแลกเงินไปรษณีย์
- บริการโทรเลข สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันรับผิดชอบโดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด หลังจากการแปรรูปการสื่อสารแห่งประเทศไทย
นอกเหนือจากนี้ บริการอื่น ๆ ที่อาจมี เช่น
- บริการให้เช่า ตู้ ปณ.
- บริการโทรศัพท์ทางไกล อินเทอร์เน็ต
- บริการรับชำระเงิน
- จำหน่ายแสตมป์ เครื่องเขียนของการไปรษณีย์ และสิ่งสะสมอื่น ๆ
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] อ้างอิง
- James Mackay, The Guinness Book of Stamps Facts & Feats, Guinness Superlatives Ltd, 1982
- Bonnie Davis, Royal Siamese Postal Service (The Early Years), Siam Stamp Trading Co., Ltd.
- พ.ต.อ. นายแพทย์พิพัฒน์ ชูวรเวช, ตำนานแสตมป์ไทยสำหรับนักสะสม, อรุณการพิมพ์, พ.ศ. 2546
- อาณัฐชัย รัตตกุล, ตำนานไปรษณีย์ไทย พ.ศ. ๒๒๓๑ - ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ทรีดีการพิมพ์, พ.ศ. 2543
- ไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ. 2549