สามารถ พยัคฆ์อรุณ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ข้อมูลส่วนตัว | ||
---|---|---|
ชื่อจริง | สามารถ ทิพย์ท่าไม้ | |
ฉายา | เพชฌฆาตหน้าหยก | |
วันเกิด | 5 ธันวาคม พ.ศ. 2505 | |
สถานที่เกิด | จังหวัดฉะเชิงเทรา | |
รุ่น | พินเวท (มวยไทย) จูเนียร์ฟลายเวท (มวยไทย) ซูเปอร์แบนตั้มเวท เฟเธอร์เวท |
|
ผู้จัดการ | ทรงชัย รัตนสุบรรณ สหสมภพ ศรีสมวงศ์ สุชาติ เกิดเมฆ |
|
เทรนเนอร์ | ยอดธง เสนานันท์ (มวยไทย) สุดใจ สัพพะเลข (มวยสากล) อิสมาเอล ซาลาส (มวยสากล) |
|
สถิติ | ||
ชก | 22 | |
ชนะ | 20 | |
ชนะน็อก | 12 | |
แพ้ | 2 | |
เสมอ | 0 |
สามารถ พยัคฆ์อรุณ อดีตแชมป์โลกคนที่ 10 ของไทย อดีตยอดนักมวยไทยชื่อดัง มีชื่อจริงว่า สามารถ ทิพย์ท่าไม้ เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2505 ที่ตำบลคลองเขต อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา สามารถหัดชกมวยครั้งแรกโดยเริ่มจากมวยไทยตั้งแต่อายุ 11 ขวบ โดยใช้ชื่อว่า " สามารถ ลูกคลองเขต "
เนื้อหา |
[แก้] การชกมวยไทย
สามารถชกมวยไทยในแถบจังหวัดภาคตะวันออกถึงร้อยกว่าครั้ง จึงได้เดินทางมาชกในกรุงเทพ ฯ ในปี พ.ศ. 2522 ที่เวทีลุมพินี โดยอยู่ในการดูแลของโปรโมเตอร์ชื่อดัง ทรงชัย รัตนสุบรรณ
สามารถถือได้ว่าเป็นนักมวยที่มีชั้นเชิงแพรวพราว สายตาดี ชกได้สนุก ชนะใจคนดู และประสบความสำเร็จอย่างมากในการชกมวยไทย โดยได้แชมป์ของเวทีมวยลุมพินีถึง 4 รุ่นด้วยกัน ได้แก่ รุ่นพินเวท (105 ปอนด์) ในปี พ.ศ. 2523 รุ่นจูเนียร์ฟลายเวท (108 ปอนด์) ในปี พ.ศ. 2523 รุ่นจูเนียร์แบนตั้มเวท (115 ปอนด์) ในปี พ.ศ. 2524 รุ่นเฟเธอร์เวท (126 ปอนด์) ในปี พ.ศ. 2524
[แก้] มวยสากลอาชีพ
สามารถ พยัคฆ์อรุณ เริ่มหันมาชกมวยสากลอาชีพโดยได้รับการสนับสนุนจากบุคคลหลายฝ่าย เช่น ทรงชัย รัตนสุบรรณ ผู้จัดการและโปรโมเตอร์ สหสมภพ ศรีสมวงศ์ และสุชาติ เกิดเมฆ สามารถชกมวยสากลสร้างประสบการณ์อยู่ 11 ครั้ง จึงได้ชิงแชมป์โลกครั้งแรกในรุ่นซูเปอร์แบนตั้มเวท (122 ปอนด์) ของสภามวยโลก หรือ WBC กับมักมวยชาวเม็กซิกัน กัวดาลูเป้ พินเธอร์ ผลการชก สามารถเอาชนะน็อกแชมป์โลกไปได้ในยกที่ 5 กลายเป็นแชมป์โลกคนที่ 10 ของไทยไปทันที
ภายหลังจากได้แชมป์โลกไปแล้ว สามารถชกป้องกันตำแหน่งอีกครั้งคือ การชกป้องกันตำแหน่งกับ ฮวน คิด เมซ่า นักมวยชาวเม็กซิกัน ซึ่งเป็นอดีตแชมป์โลกในรุ่นนี้ ผลปรากฏว่า สามารถก็เอาชนะน็อกไปในยกที่ 12 การชกกับฮวน คิด เมซ่า ได้รับการกล่าวขานถึงเป็นอย่างมาก เพราะสามารถพิงเชือกโยกหลบหมัดของผู้ท้าชิงด้วยสายตาอันว่องไวนับสิบ ๆ หมัด (ประมาณกันว่า 27 หมัด) และชกสวนหมัดตรงเข้าปลายคางไปเพียงหมัดเดียว ก็เอาชนะน็อกผู้ท้าชิงไปได้อย่างน่าประทับใจ โดยการชกครั้งนี้เป็นการชกร่วมรายการเดียวกับ สด จิตรลดา ป้องกันตำแหน่งแชมป์โลกรุ่นฟลายเวท WBC กับกาเบรียล เบอร์นัล ด้วย
จากนั้น สามารถเดินทางไปป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 2 เป็นการป้องกันตำแหน่งนอกบ้านถึงประเทศออสเตรเลีย กับนักมวยเจ้าถิ่น เจฟฟ์ เฟเนค (ซึ่งต่อมาเป็นนักมวยชื่อดังระดับโลก เป็นแชมป์โลก 3 รุ่น) การชกในครั้งนี้สามารถประสบกับปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวซึ่งต้องลดเป็นอย่างมาก จึงถูก เฟเนค น็อกในยกที่ 4 อย่างหมดรูป แต่กระนั้นก็ยังมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า สามารถล้มมวยหรือเปล่า เพราะไม่เชื่อว่าฟอร์มการชกก่อนหน้านั้น 2 ครั้ง จะทำให้สามารถแพ้อย่างง่ายดายเช่นนี้ ซึ่งสามารถได้พิสูจน์ความจริงใจของตนเองด้วยการทำพิธีสาบานที่วัดพระแก้วจนเป็นข่าวครึกโครมในช่วงนั้น
หลังจากเสียแชมป์โลกไปแล้ว สามารถ ยังคงชกมวยต่อ และกลับมาชกมวยไทยอีกครั้ง ซึ่งก็ประสบความสำเร็จด้วยการชนะนักมวยชั้นนำในสมัยนั้นหลายรายเช่น เจริญทอง เกียรติบ้านช่อง เป็นต้น จนในปี พ.ศ. 2531 สามารถ พยัคฆ์อรุณ ได้รับรางวัลนักมวยไทยยอดเยี่ยม จากสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬา
[แก้] วงการบันเทิง
ด้วยความเป็นคนหนุ่มหน้าตาดี มีบุคคลิกที่โดดเด่น ประกอบกับมีนิสัยเจ้าสำราญ ทำให้มีบุคคลชักชวนเข้าสู่วงการบันเทิง ซึ่งก็ประสบความสำเร็จไม่แพ้ในวงการมวยเลยทีเดียว สามารถมีผลงานในวงการบันเทิงครั้งแรกโดยการออกเทปกับบริษัทแกรมมี่ ในชื่อชุด " ร็อกเหน่อ ๆ " มีเพลงดังที่รู้จักกันดีในยุคนั้นคือเพลง " อ่อนซ้อม " โดยเป็นการล้อเลียนการซ้อมมวยของสามารถเอง ซึ่งมักถูกกล่าวว่าเป็นมวยซ้อมน้อย และได้ออกอัลบั้มชุดต่อ ๆ มาอีกหลายชุด ไม่เพียงเท่านั้น สามารถยังได้ถ่ายแบบ แสดงหนัง ละคร หลายต่อหลายเรื่อง สามารถกลายเป็นดาราชื่อดังชั้นแนวหน้าในระยะเวลาไม่นาน และประสบความสำเร็จในวงการบันเทิงโดยได้รับรางวัลตุ๊กตาทองจากภาพยนตร์เรื่อง " ขยี้ " ร่วมกับลิขิต เอกมงคล ในปี พ.ศ. 2534 ด้วย
สามารถ พยัคฆ์อรุณ คลุกคลีอยู่ในวงการบันเทิงนานหลายปี จนหลายคนเชื่อว่า เขาคงเลิกราจากวงการมวยแล้ว แต่ในปี พ.ศ. 2536 สามารถ ก็กลับมาสู่เส้นทางพื้นผ้าใบอีกครั้ง ด้วยมีเป้าตั้งไว้ที่จะกลับมาเป็นแชมป์โลกอีกครั้ง โดยมี ทรงชัย รัตนสุบรรณ เป็นผู้สนับสนุนอีกเช่นเคย สามาถชกอุ่นเครื่องเคาะสนิมอยู่ 5 ครั้ง จึงได้ชิงแชมป์โลกในรุ่นเฟเธอร์เวท WBA กับอีลอย โรฮาส นักมวยชาวเวเนซูเอล่า ในปี พ.ศ. 2537 ผลการชกคือ สามารถแพ้น็อกไปอย่างสิ้นสภาพในยกที่ 8 ปิดฉากชีวิตในแบบนักมวยทันที
ในปัจจุบัน สามารถ ยังคงอยู่ในวงการบันเทิง มีผลงานออกมาเป็นระยะ ๆ และในวงการมวยมีค่ายมวยเป็นของตัวเอง
อนึ่ง สามารถ พยัคฆ์อรุณ มีพี่ชายแท้ ๆ ซึ่งเป็นอดีตนักมวยไทยชื่อดังด้วยคือ ก้องธรณี พยัคฆ์อรุณ ก้องธรณีเคยชกมวยสากลเหมือนสามารถ ได้มีโอกาสชิงแชมป์โลกถึง 2 ครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ โดยครั้งที่ 2 ได้ชิงแชมป์กับแชมป์โลกชาวไทยด้วยกันเองคือ เขาทราย แกแล็คซี่
[แก้] สถิติการชกมวยสากลของสามารถ พยัคฆ์อรุณ
- ชนะคะแนน 10 ยก เนตรน้อย ศ.วรสิงห์ ที่เวทีมวยลุมพินี : 24 สิงหาคม พ.ศ. 2525
- ชนะคะแนน 10 ยก ฮวนนิโต้ ปาวิล่า นักมวยชาวฟิลิปปินส์ ที่เวทีมวยลุมพินี : 24 เมษายน พ.ศ. 2527
- ชนะน็อกยก 1 โม โน้ด นักมวยชาวอินโดนีเชีย ที่เวทีมวยลุมพินี : 12 มิถุนายน พ.ศ. 2527
- ชนะน็อกยก 7 แนปตาลี อลาแม็ก นักมวยชาวฟิลิปปินส์ ที่เวทีมวยลุมพินี : 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2527
- ชนะน็อกยก 4 ฟาลิด กาลูซ นักมวยชาวฝรั่งเศส ที่เวทีมวยลุมพินี : 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527
- ชนะคะแนน 10 ยก เอกลักษณ์ สิงห์นครหลวง ที่เวทีมวยช่อง 7 สี : 6 มกราคม พ.ศ. 2528
- ชนะคะแนน 10 ยก ไฮเม่ เอนริเกวซ นักมวยชาวฟิลิปปินส์ ที่อาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ : 22 มิถุนายน พ.ศ. 2528
- ชนะน็อกยก 6 ช่อ ห้าพลัง ที่เวทีมวยช่อง 7 สี : 15 กันยายน พ.ศ. 2528
- ชนะน็อกยก 8 ทองเปิ้ม ลูกมาตุลี ที่เวทีมวยช่อง 7 สี : 13 ตุลาคม พ.ศ. 2528
- ชนะน็อกยก 6 ปาร์ค บวง ชู นักมวยชาวเกาหลีใต้ ที่เวทีมวยช่อง 7 สี : 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528
- ชิงแชมป์โลกรุ่นซูเปอร์แบนตั้มเวท WBC ชนะน็อกยก 5 กัวดา ลูเป้ พินเตอร์ นักมวยชาวเม็กซิกัน ที่อินดอร์ สเตเดี้ยม สนามกีฬาหัวหมาก : 18 มกราคม พ.ศ. 2529
- ชกนอกรอบ ชนะคะแนน 10 ยก ราฟาเอล กันดาริญญ่า นักมวยชาวอเมริกัน ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส : 20 มิถุนายน พ.ศ. 2529
- ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 1 ชนะน็อกยก 12 ฮวน คิด เมซ่า ที่อินดอร์ สเตเดียม สนามกีฬาหัวหมาก : 10 ธันวาคม พ.ศ. 2529
- เสียแชมป์โลก แพ้น็อกยก 4 เจฟฟ์ เฟเนค นักมวยชาวออสเตรเลีย ที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย : 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2530
- ชนะน็อกยก 8 โฮกัน โนกูจิ นักมวยชาวญี่ปุ่น ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา : 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530
- ชนะน็อกยก 4 เฮคเตอร์ เคอร์เตส นักมวยชาวอเมริกัน ที่เวทีมวยสยามอ้อมน้อย : 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531
- ชนะคะแนน 10 ยก รูดี้ คาบิเลส นักมวยชาวฟิลิปปินส์ ที่เวทีมวยชั่วคราวลานโลกดนตรี ช่อง 5 : 8 สิงหาคม พ.ศ. 2536
- ชนะน็อกยก 5 อิกนาโซ่ ฮาโคเม่ นักมวยชาวเม็กซิกัน ที่เวทีมวยชั่วคราวลานโลกดนตรี ช่อง 5 : 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536
- ชนะคะแนน 10 ยก ไทเกอร์ อาริ นักมวยชาวฟิลิปปินส์ ที่เวทีมวยชั่วคราวจังหวัดสุราษฎร์ธานี : 23 มกราคม พ.ศ. 2537
- ชนะคะแนน 10 ยก โบเอ็ด แอนดาเรส นักมวยชาวฟิลิปปินส์ ที่เวทีมวยชั่วคราวจังหวัดฉะเชิงเทรา : 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537
- ชนะน็อกยก 5 เจอร์รี่ วิลลาคอร์เต้ นักมวยชาวฟิลิปปินส์ ที่เวทีมวยชั่วคราวจังหวัดสมุทรปราการ : 10 เมษายน พ.ศ. 2537
- ชิงแชมป์โลกรุ่นเฟเธอร์เวท WBA แพ้น็อกยก 8 เอรอยด์ โรฮาส นักมวยชาวเวเนซูเอล่า ที่เวทีมวยชั่วคราวหน้าโรงแรมเรือ จังหวัดตรัง : 11 กันยายน พ.ศ. 2537
รวมสถิติการชกในแบบมวยสากลทั้งหมด 22 ครั้ง ชนะ 20 ครั้ง แพ้ 2 ครั้ง (ชนะน็อก 12 ครั้ง)
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
เทปการชกมวยไทย
- เทปการชกกับ เจริญทอง เกียรติบ้านช่อง
- เทปการชกกับ สำราญศักดิ์ เมืองสุรินทร์
- เทปการชกกับ นำพล หนองกี่พาหุยุทธ
- เทปการชกกับ พนมทวนเล็ก ห้าพลัง
- เทปการชกกับ วังจั่นน้อย ส.พลังชัย
- เทปการชกกับ Gilbert Ballentine
- เทปการชก (Kick Boxing) กับ Murat Comert
- เทปการชก (Kick Boxing) กับ Lenehan
เทปการชกมวยสากล