มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตภาคพายัพ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ เป็นสถาบันการศึกษาวิชาชีพประจำภาค ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งขึ้น โดยประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ ในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2500 ตั้งอยู่ภายในเวียงเจ็ดลินเดิม เลขที่ 128 ถนนห้วยแก้ว ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 6 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 90 ไร่ และต่อมาในปี พ.ศ. 2523 วิทยาเขตฯ ได้รับอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย ให้ใช้ที่ดินสาธารณะประโยชน์ประจำหมู่บ้านช่างเคี่ยนอีกจำนวน 25 ไร่
ในปีเริ่มแรกได้เปิดสอนหลักสูตรระดับวิชาชีพ ใน 6 แผนกวิชา คือ ช่างยนต์ ช่างกลโลหะ ช่างไฟฟ้า ช่างก่อสร้าง ช่างไม้ครุภัณฑ์ และพณิชยการ ต่อมาได้ปรับปรุง และขยายงาน ทั้งในด้านสถานที่ อาคารเรียน อุปกรณ์ เครื่องมือ บุคลากร และขยายการศึกษาโดยเปิดแผนกวิชาต่างๆ ในระดับที่สูงขึ้น
นอกจากเปิดสอนวิชาชีพ เพื่องานในทางอุตสาหกรรม พณิชยกรรม และศิลปกรรม ทั้งในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และระดับปริญญาตรีแล้ว วิทยาเขตฯ ยังได้มีโครงการสนับสนุนส่งเสริมศิลปหัตถกรรมภาคเหนือ ที่บริเวณที่ดินซึ่งได้รับบริจาคจากคุณหญิงดารา ไชยยศสมบัติ จำนวน 5 ไร่ และวิทยาเขตฯ จัดซื้อเพิ่มอีก 5 ไร่ รวมเป็น 10 ไร่
สถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับโรงเรียนวัดเจ็ดยอด โดยมีแผนกวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แผนกวิชาอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา แผนกวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอ แผนกวิชาช่างอุตสาหกรรมเครื่องประดับ แผนกวิชาจิตรกรรม แผนกวิชาประติมากรรม แผนกวิชาศิลปะภาพพิมพ์ แผนกวิชาการพิมพ์ และแผนกวิชานิเทศศิลป์ เข้าไปปฏิบัติตามโครงการดังกล่าว
ต่อมาปี พ.ศ. 2548 ได้มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548 ประกาศยกฐานะสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง ทำให้สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคพายัพ ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาวิทยาเขตภาคพายัพ
เนื้อหา |
[แก้] ผู้อำนวยการวิทยาเขต ตามลำดับ
- นายจรัญ สมชะนะ 2500 - 2503
- นายเจนจิตต์ กุณฑลบุตร 2503 - 2506
- นายสวาสดิ์ ไชยคุนา 2506 - 2515
- นายชลิต สุวัตถี 2515 - 2516 (รักษาการ)
- นายภพ เลาหไพยบูลย์ 2516 - 2517 (รักษาการ)
- นายสุพจน์ พุทธาภิสิทธิ 2517 (รักษาการ)
- นายจรัญ สมชะนะ 2517 - 2519
- นายโสภณ แสงไพโรจน์ 2520 - 2522
- นายดิเรก มานะพงษ์ 2522 - 2533
- นายสุพจน์ พุทธาภิสิทธิกุล 2533 - 2535 (รักษาการ)
- นายไพรัช รุ้งรุจิเมฆ 2535 - 2537
- นายเฉลิม เลาหะเพ็ญแสง 2537 - 2538
- นายอัศดา จิตต์ปรารพ 2539 - 2543
- นายชัยยง เอื้อวิริยานุกูล 2543 - 2550
- ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน 2550 - ปัจจุบัน
[แก้] ความเป็นมาของชื่อวิทยาเขต
- พ.ศ. 2500 ได้มีการจัดตั้ง "วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ" (วท.พ) ขึ้น โดยสังกัด กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
- พ.ศ. 2520 ได้เข้าเป็น 1 ในวิทยาเขตของ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา โดยใช้ชื่อวิทยาเขตว่า "วิทยาเขตเทคนิคภาคพายัพ" (วข.พ) ในสังกัด กระทรวงศึกษาธิการ
- พ.ศ. 2531 "วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเทคนิคภาคพายัพ" ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคพายัพ" (วข.พ) สังกัด กระทรวงศึกษาธิการ
- พ.ศ. 2548 "สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคพายัพ" ยกฐานะเป็น "มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เขตพื้นที่ภาคพายัพ เชียงใหม่" (มทร.ล.) สังกัด กระทรวงศึกษาธิการ ดังเช่นปัจจุบัน
[แก้] คณะที่เปิดสอน
- คณะวิศวกรรมศาสตร์
- คณบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์
- คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์
- วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ
[แก้] พื้นที่จัดการเรียนการสอน และบริการวิชาการ
1. พื้นที่ห้วยแก้ว ตั้งอยู่เลขที่ 128 ถนนห้วยแก้ว ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จัดการเรียนการสอน 4 คณะ คือ คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ (เฉพาะสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์)และวิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ (บางส่วน) มีเนื้อที่ 115 ไร่ ตั้งอยู่ ณ พื้นที่ของเวียงเจ็ดลิน เดิม
2. พื้นที่เจ็ดยอด ตั้งอยู่เลขที่ 95 ถนนเชียงใหม่-ลำปาง ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จัดการเรียนการสอน 1 คณะ คือ คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มีเนื้อที่ 10 ไร่
3. พื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด เป็นโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการจัดสร้างเป็นศูนย์การศึกษาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 โดยจัดตั้งสถานศึกษาเฉลิมพระเกียรติในเชิงปฏิรูปลักษณะเป็น ศูนย์การศึกษาตลอดชีวิต ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนถึงระดับปริญญาตรี โดยให้กรมต่าง ๆ รับผิดชอบแต่ละส่วน และให้ประสานกับ จุดยุทธศาสตร์ของประเทศพร้อมกัน 3 แห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ อันเป็นจังหวัดที่ตั้งของพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ และพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ต่อมาประสบปัญหางบประมาณ ทำให้รัฐบาลสั่งระงับโครงการฯ ไว้ก่อน วิทยาเขตภาคพายัพ จึงได้จัดทำโครงการเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอเข้าไปดำเนินโครงการ ในพื้นที่ของโรงเรียนประจำพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ฯ ปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยฯ จัดให้เป็นศูนย์ฝึกอบรม และบริการวิชาการแก่ชุมชน และจัดการศึกษาในส่วนของวิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ
4. พื้นที่อำเภอจอมทอง ตั้งอยู่ 199 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ จัดการเรียนการสอน 1 คณะ คือ คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ สาขาวิชาระบบสารสนเทศทางคอมพิวเตอร์ หลักสูตร 4 ปี เปิดทำการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2550
[แก้] ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง
- นายจรัล มโนเพชร คณะบริหารธุรกิจ ศิลปินล้านนา
- นายรุ่ง จันตาบุญ คณะสถาปัตยกรรม ผู้ออกแบบหอคำหลวง งานพืชสวนโลก "ราชพฤกษ์ 49"
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา | ||
---|---|---|
คณะ |
บริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ • วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร • วิศวกรรมศาสตร์ • ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ |
|
วิทยาเขต |
ส่วนกลาง • วิทยาเขตตาก • วิทยาเขตน่าน • วิทยาเขตลำปาง • วิทยาเขตเชียงราย • วิทยาเขตภาคพายัพ • วิทยาเขตพิษณุโลก |
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตภาคพายัพ เป็นบทความเกี่ยวกับ สถานศึกษา ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตภาคพายัพ ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |