พระราชอำนาจทางการเมือง ในรัชกาลที่ 9
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระราชอำนาจทางการเมือง ในรัชกาลที่ ๙ ตามรูปแบบการปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และทรงอยู่เหนือการเมือง แต่ในบางโอกาสอันเป็นวิกฤตของประเทศ พระองค์จำเป็นต้องทรงใช้พระราชอำนาจ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินต่อไปได้ หรือแม้แต่เพื่อให้ประเทศชาติยังคงดำรงอยู่สืบไป โดยปรากฏเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ดังต่อไปนี้
เนื้อหา |
[แก้] สมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม
ในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชซึ่งเป็นช่วงที่จอมพลแปลก พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น จอมพลแปลกมีแนวคิดชาตินิยมอย่างรุนแรง และประสงค์ที่จะให้ประเทศไทยมีความเจริญเสมอนานารยประเทศ จอมพลแปลกในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีจึงมีนโยบาย "เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย" โดยพยายามชูบทบาทของตนเองให้โดดเด่นกว่าพระมหากษัตริย์ และ ไม่สนับสนุนให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ และควบคุมการใช้จ่ายของพระมหากษัตริย์[1]
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและจอมพลแปลกเองมีเรื่องกระทบกระทั่งกันบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในโอกาสฉลองพุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๕๐๐ รัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญพระมหากษัตริย์เสด็จมาทรงเป็นประธานซึ่งก็ทรงตอบรับเป็นที่เรียบร้อย แต่ครั้นถึงวันงานทรงพระประชวรปัจจุบันทันด่วนอย่างสุดวิสัย ทำให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจเป็นประธานเปิดพิธีเอง และในเดือนสิงหาคมของปีดังกล่าว จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก ออกมาโจมตีรัฐบาลของจอมพลแปลกว่าละเมิดพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งข่าวการระหองระแหงกันระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและงรัฐบาลดังกล่าว ทำให้สาธารณะเริ่มไม่ไว้วางใจรัฐบาลมากขึ้น [1] [2]
เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ จอมพลแปลกได้ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อขอให้ทรงสนับสนุนรัฐบาล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเตือนจอมพลแปลกว่าขอให้ลาออกจากตำแหน่งเสียเพื่อมิให้เกิดรัฐประหาร แต่จอมพลแปลกปฏิเสธ[3] เย็นวันดังกล่าว จอมพลสฤษฎดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลทันที และสองชั่วโมงหลังจากการประกาศยึดอำนาจ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร [4] และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้จอมพลสฤษดิ์เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารโดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พระบรมราชโองการฉบับหลังมีความว่า[5]
“ | เนื่องด้วยปรากฏว่า รัฐบาลอันมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้บริหารราชการแผ่นดินไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ทั้งไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้ คณะทหารซึ่งมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้า ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองไว้ได้ และทำหน้าที่เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ข้าพเจ้าจึงขอแต่งตั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ขอให้ประชาชนทั้งหลายจงอยู่ในความสงบ และให้ข้าราชการทุกฝ่ายฟังคำสั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๐๐ | ” |
[แก้] สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ส่วนนี้ของบทความยังไม่สมบูรณ์ คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยเพิ่มเติมเนื้อหาในส่วนนี้ |
[แก้] สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร
ส่วนนี้ของบทความยังไม่สมบูรณ์ คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยเพิ่มเติมเนื้อหาในส่วนนี้ |
[แก้] สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
ส่วนนี้ของบทความยังไม่สมบูรณ์ คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยเพิ่มเติมเนื้อหาในส่วนนี้ |
[แก้] สมัยพลเอกสุจินดา คราประยูร
-
- ดูบทความเพิ่มเติมที่ พฤษภาทมิฬ
รัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) อันมี พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้า ในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธุ์ ๒๕๓๔ ทำให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่ "วงจรอุบาทว์" อีกครั้ง[6] ซึ่งภายหลังจากที่ รสช. ได้จัดให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๕ และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปแล้ว พรรคการเมืองที่มีจำนวนผู้แทนราษฎรมากที่สุดคือพรรคสามัคคีธรรม จำนวนเจ็ดสิบเก้าคน ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และมีการเตรียมเสนอนายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมในฐานะหัวหน้าพรรคที่มีผู้แทนราษฎรมากที่สุดขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่านางมาร์กาเร็ต แท็ตไวเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา ได้แถลงว่า นายณรงค์เป็นผู้หนึ่งที่ไม่สามารถขอหนังสือเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด
ในที่สุด จึงมีการเสนอชื่อพลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้ซึ่งเคยกล่าวจะไม่สืบทอดอำนาจและไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ อีกภายหลังจากที่ รสช. พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว โดยพลเอกสุจินดาแถลงว่า ตนจำเป็นต้อง "เสียสัตย์เพื่อชาติ" ขณะเดียวกันก็มีการทักท้วงโต้แย้งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าไม่เป็นประชาธิไตย
การรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดานำไปสู่การเคลื่อนไหวคัดค้านต่าง ๆ ของประชาชน โดยมีร้อยตรีฉลาด วรฉัตร และพลตรีจำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรม เป็นแกนนำ ซึ่งรัฐบาลของพลเอกสุจินดาได้สั่งให้ปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงโดดเฉียบขาด กลายเป็นเหตุการณ์นองเลือดในที่สุด
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงมีพระบรมราชโองการให้เรียกพลเอกสุจินดาและพลตรีจำลองเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ถ่ายทอดการนี้สดด้วย
ในเหตุการณ์ถ่ายทอดสด นายทหารทั้งสองคุกเข่าลงนั่งกับพื้นในระดับต่ำกว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รับพระราชทานพระราโชวาทให้ยุติการนองเลือดและให้เร่งฟื้นฟูปรกติภาวะโดยเร็ว จากนั้น พลเอกสุจินดากราบบังคมทูลพระกรุณาขอลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นายกรัฐมนตรีแทน เพื่อให้อำนวยการการเลือกตั้งทั่วไปในโอกาสข้างหน้า
[แก้] สมัยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน
ดูบทความหลักที่ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ |
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานสภาองคมนตรี และ รัฐบุรุษ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน พลเรือเอก สถิรพันธุ์ เกยานนท์ และพลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายรายงานสถานการณ์ การปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อเวลา 00.19 น. วันพุธที่ ๒๐ กันยายน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต
พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณา ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ว่า การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล อันมีพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้ก่อให้เกิดปัญหา ความขัดแย้งแบ่งฝ่าย สลายความรู้สึกรู้รักสามัคคีของ คนในชาติ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ประชาชนส่วนหนึ่งเคลือบแคลงสงสัยว่า การบริหารราชการแผ่นดิน ส่อไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบ อย่างกว้างขวาง หน่วยงานอิสระ ถูกการเมืองครอบงำ ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เกิดปัญหา และ อุปสรรค หลายประการ แม้หลายภาคส่วนของสังคม จะได้พยายามประนีประนอม คลี่คลายสถานการณ์ มาโดยต่อเนื่องแล้ว ก็ไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้
เดิม คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Council for Democratic Reform under Constitutional Monarchy (อักษรย่อ CDRM) ต่อมาได้ตัดคำว่า under Constitutional Monarchy ออก เพื่อไม่ให้สื่อต่างประเทศนำไปตีความว่า คณะปฏิรูปฯ เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็น Council for Democratic Reform (อักษรย่อ CDR) โดยยังคงใช้ชื่อภาษาไทยตามเดิม [7]
หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ ในวันที่ ๑ ตุลาคม ปีเดียวกัน คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แปรสภาพเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ โดย หัวหน้า คปค. ดำรงตำแหน่ง ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ประธานสภา และรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
[แก้] อ้างอิง
- ^ 1.0 1.1 นรนิติ เศรษฐบุตร, บรรณาธิการ. (๒๕๔๙). การเมืองการปกครองไทยในรอบ ๖๐ ปี แห่งการครองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า.
- ^ Thak Chaloemtiarana (1979). Thailand: The Politics of Despotic Paternalism. Social Science Association of Thailand, Page 98. (อังกฤษ)
- ^ Suwannathat-Pian, Kobkua (1995). Thailand's Durable Premier. Oxford University Press, Page 30. ISBN 967-65-3053-0. (อังกฤษ)
- ^ พระบรมราชโองการให้ใช้กฎอัยการศึกษาทั่วราชอาณาจักร. (๒๕๐๐, ๑๖ กันยายน). ราชกิจจานุเบกษา, (เล่มที่ ๗๔, ตอน ๗๖). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2500/A/076/2.PDF. (๔ มิถุนายน ๒๕๕๑).
- ^ พระบรมราชโองการตั้งผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร. (๒๕๐๐, ๑๖ กันยายน). ราชกิจจานุเบกษา, (เล่มที่ ๗๔, ตอนพิเศษ ๗๖ ก). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2500/A/076/1.PDF. (๔ มิถุนายน ๒๕๕๑).
- ^ กล่าวคือ มีการรัฐประหาร การยกเลิกรัฐธรรมนูญ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การเลือกตั้งทั่วไป การจัดตั้งรัฐบาล และวกกลับเข้าสู่การรัฐประหาร การยกเลิกรัฐธรรมนูญ การ... วนไปเช่นเดิม
- ^ http://nationmultimedia.com/breakingnews/read.php?newsid=30014778