พระที่นั่งวิมานเมฆ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระที่นั่งวิมานเมฆ (ภาษาอังกฤษ - Vimanmek Mansion) เป็นพระที่นั่งในพระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร
เนื้อหา |
[แก้] ประวัติ
พระที่นั่งวิมานเมฆเป็นพระที่นั่งที่สร้างด้วยไม้สักทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นพระที่นั่งถาวรองค์แรกในพระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพระราชวังดุสิต (ซึ่งในรัชสมัยของพระองค์เรียกว่า พระราชวังสวนดุสิต) ใน พ.ศ. 2444 โดยโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นที่เกาะสีชังเมื่อ พ.ศ. 2435 แต่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโยธาเทพ (กร หงสกุล ต่อมาเป็นพระยาราชสงคราม) เป็นนายงานรื้อพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์จากเกาะสีชังมาสร้างในสวนดุสิต และพระราชทานนามว่า พระที่นั่งวิมานเมฆ และทรงวางศิลาฤกษ์พระที่นั่งเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2443 โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกำกับการออกแบบ และ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2444
พระที่นั่งวิมานเมฆสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่งดงามประณีตและได้รับอิทธิพลการก่อสร้างแบบตะวันตก การก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2444 และได้เสด็จมาประทับที่พระที่นั่งวิมานเมฆ จนกระทั่งพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2445 สร้างเสร็จเรียบร้อยใน พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถานเป็นการถาวร จนกระทั่งเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 และพระที่นั่งวิมานเมฆยังคงเป็นสถานที่ประทับของเจ้านายจนกระทั่งสิ้นรัชกาล เจ้านายฝ่ายในและข้าราชบริพารจึงได้กลับมาประทับที่พระบรมมหาราชวัง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาประทับที่พระที่นั่งวิมานเมฆใน พ.ศ. 2468 แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชายา ก็ทรงย้ายออกจากพระที่นั่งวิมานเมฆ และจากนั้นมา พระที่นั่งวิมานเมฆก็มิได้เป็นพระราชฐานที่ประทับของเจ้านายอีก
ในรัชกาลปัจจุบัน พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นปีที่ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงขอพระบรมราชานุญาตซ่อมพระที่นั่งวิมานเมฆ เพื่อจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันพระที่นั่งวิมานเมฆเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ในความดูแลของสำนักพระราชวัง รวมทั้งหมู่พระตำหนักของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในด้วย
[แก้] ลักษณะขององค์พระที่นั่ง
พระที่นั่งองค์นี้ ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมยุโรป ผสมกับไทยประยุกต์ องค์พระที่นั่งเป็นรูปอักษรตัวแอล (L) ในภาษาอังกฤษ ยาวด้านละ 60 เมตร สูง 20 เมตร เป็นอาคาร 3 ชั้น ยกเว้นตรงส่วนที่ประทับซึ่งมีรูปร่างเป็นแปดเหลี่ยม มี 4 ชั้น ชั้นล่างสุดก่ออิฐ ถือปูน ชั้นถัดขึ้นไปสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหมดทาด้วยสีครีมอ่อนหลังคาสีแดง และหลังคาเป็นทรงไทยประยุกต์ มีลวดลายตามหน้าต่าง และช่องลมซึ่งฉลุเป็นลายที่เรียกว่าขนมปังขิง
สำหรับพระที่นั่งวิมานเมฆนี้จะแบ่งเป็นห้องต่างๆ 5 สีด้วยกัน คือสีฟ้า เขียว ชมพู งาช้าง และสีลูกพีช (ชมพูอมส้ม) แต่ละห้องจะจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 5 รวมถึงเจ้านายชั้นสูง เช่น ห้องสีเขียว เป็นห้องเครื่องเงินจากประเทศจีน ส่วนชั้นสองเป็นห้องทรงงานของรัชกาลที่ 5 และห้องบนชั้นสามจะเป็นห้องบรรทม แต่ห้องที่งดงามที่สุดในพระที่นั่งวิมานเมฆเห็นจะเป็นห้องท้องพระโรง ที่มีบรรยากาศขรึมขลังอลังการมากที่สุด
[แก้] อ้างอิง
- เที่ยววัด-ชมวัง ตามรอยนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม โดย ผู้จัดการออนไลน์ 25 เมษายน 2549 18:02 น.
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ
- ผู้จัดการ "พระที่นั่งวิมานเมฆ" วิมานดินที่สัมผัสได้
- หนังสือ "พระที่นั่งวิมานเมฆ" จัดพิมพ์โดย ธนาคาร ทหารไทย จำกัด (มหาชน)
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย หรือ กูเกิลแมป
- แผนที่ จาก มัลติแมป หรือ โกลบอลไกด์
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
|
|
---|---|
วัดประจำพระราชวัง | วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร |
เขตพระราชฐานปัจจุบัน | พระที่นั่งอนันตสมาคม · พระที่นั่งอัมพรสถาน ·พระที่นั่งวิมานเมฆ· พระที่นั่งอภิเศกดุสิต · พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน · วังปารุสกวัน · วังสวนกุหลาบ · ลานพระราชวังดุสิต · สวนอัมพร · สนามเสือป่า · พระตำหนักในพระราชวังดุสิต |
เขตพระราชฐานในอดีต | พื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต · พื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา · พื้นที่สำนักงานกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย · พื้นที่สำนักงานกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น · ท่าวาสุกรี |