ปลาฉลามปากเป็ด
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Psephurus gladius
อันดับ | Acipenseriformes |
วงศ์ | Polyodontidae |
สกุล | Polyodon Psephurus |
สปีชีส์ | P. spathula P. gladius |
ฉลามปากเป็ด เป็นปลากระดูกแข็งในอันดับปลาสเตอร์เจียน (Acipenseriformes) 2 ชนิด ชนิดที่พบในทวีปอเมริกาเหนือ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Polyodon spathula ถึงแม้มีรูปร่างโดยผิวเผินคล้ายฉลามและมีคำว่าฉลามอยู่ในชื่อ แต่ทางอนุกรมวิธานไม่จัดเป็นปลาฉลามแต่อย่างใด พบในบริเวณแม่น้ำมิสซิสซิปปี ประเทศสหรัฐอเมริกา ฉลามปากเป็ดมีความยาวได้ถึง 7 ฟุต และมีน้ำหนักได้ถึง 100 กิโลกรัม ลักษณะเด่นของปลาชนิดนี้คือจงอยจมูกที่ยาวและแบนคล้ายปากของเป็ด สามารถตรวจจับไฟฟ้าได้ ซึ่งใช้หาอาหารและนำร่องในการว่ายน้ำไปยังแหล่งผสมพันธุ์ ปลาชนิดนี้กินแพลงตอนสัตว์เป็นอาหาร โดยจะอ้าปากกรองแพลงตอนสัตว์เวลาว่ายน้ำ ฉลามปากเป็ดเป็นปลามีอายุยีนได้ถึง 30 ปี แพร่พันธุ์โดยการวางไข่ครั้งละหลายหมื่นฟอง ไข่ปลาสามารถเอามาใช้เป็นไข่ปลาคาเวียร์ได้ เช่นเดียว กับไข่ของปลาสเตอร์เจียน[1][2]
เนื้อหา |
[แก้] ฉลามปากเป็ดจีน
อีกชนิดหนึ่งคือ ฉลามปากเป็ดจีน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Psephurus gladius (ภาษาจีนกลาง : 白鲟) มีส่วนหัวและจงอยปากแหลมยาวกว่าชนิดที่พบในทวีปอเมริกาเหนือ และมีขนาดใหญ่กว่ามาก โดยมีบันทึกว่าหนักได้ถึง 600 กิโลกรัม อาศัยอยู่เฉพาะในแม่น้ำแยงซีเกียงในภาคตะวันออกของจีนเท่านั้น และเป็นปลาที่มีข้อมูลและรายละเอียดทางวิชาการน้อยมาก เนื่องจากเป็นปลาที่ใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่งแล้วของโลก ตัวอย่างของปลาพบน้อยมากไม่ว่าจะเป็นปลาที่ยังมีชีวิตอยู่หรือตายแล้วก็ตาม
[แก้] ความคุ้มครองทางกฎหมายและการเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม
ในปัจจุบันมีการคุ้มครองโดยกฎหมายในระดับนานาชาติ โดยเป็นสัตว์ในบัญชีหมายเลข 2 (Appendix II) ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ (CITES) โดยห้ามส่งออกหรือนำเข้าโดยปราศจากใบอนุญาต ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม[3][4] แม้ปลาฉลามปากเป็ดเป็นปลาที่ใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่ง แต่ปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว และนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย แต่เลี้ยงให้รอดได้ยากมาก เนื่องจากเป็นปลาที่ชอบกระโดด อ่อนไหวง่ายกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพน้ำ อีกทั้งระบบเผาผลาญอาหารในร่างกายก็เป็นไปอย่างรวดเร็วด้วย จึงเป็นปลาที่ต้องกินอาหารอยู่แทบตลอดเวลา
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] อ้างอิง
- ^ ชวลิต วิทยานนท์, อภิชาต เติมวิชชากร, รจิต จาละ และประพันธ์ ลีปายะคุณ. ปลาหายากใน พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าและ CITES. สถาบันพิพิธภัณท์สัตว์น้ำ และ กองอนุรักษ์ทรัพยากรประมง กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- ^ ชวลิต วิทยานนท์, อภิชาต เติมวิชชากร, รจิต จาละ และประพันธ์ ลีปายะคุณ. ปลาหายากใน พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าและ CITES. สถาบันพิพิธภัณท์สัตว์น้ำ และ กองอนุรักษ์ทรัพยากรประมง กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- ^ ชวลิต วิทยานนท์ และคณะ. การตรวจสอบกิจกรรมเกี่ยวกับปลาตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และ CITES. สถาบันพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำและกองอนุรักษ์ทรัพยากรประมง กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- ^ ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดชนิดของสัตว์ป่าและซากของสัตว์ป่าที่ห้ามนำเข้าและส่งออก